[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๑,   ตอนที่ ๑

1.  ปถมวัย  (ก่อนไปสหรัฐอเมริกา),  พ.ศ.๒๔๔๗ - ๒๔๖๐

๑. กำเนิดและเมื่อยังเยาว์วัย
๒. เข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
๓. สิ่งที่ชอบเมื่อเป็นเด็ก

๑. กำเนิดและเมื่อยังเยาว์วัย

       เกิดวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ วันอาทิตย์ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง เวลาหนึ่งยามสิบห้านาที ที่จังหวัดสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช เป็นบุตรคนที่ ๗ ของมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต้นตระกูลสุขุม ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และท่านผู้หญิงตลับ ซึ่งเกิดในตระกูล ณ ป้อมเพ็ชร
        สมัยนั้นการปกครองอยู่ในระบอบที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราช คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่กับพระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีพระราชอำนาจเหนือกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น การปกครองระบอบนี้ก็อาจเป็นการเหมาะสมแล้ว สำหรับประเทศไทยในขณะนั้น เพราะประชาชนชาวไทยที่ได้รับการศึกษาถึงขั้นสูงมีจำนวนน้อย และก็กล่าวกันว่า การปกครองระบอบนี้ถ้าเรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงไว้แห่งความยุติธรรม ทรงรักและเห็นแก่ความผาสุกของประชาชนและทรงตั้งพระทัยที่จะนำให้ชาติไปสู่ความรุ่งเรืองก้าวหน้า ไม่เห็นแก่ความสุขความเจริญของพระองค์เองเป็นใหญ่แล้ว ก็เป็นระบอบการปกครองที่ดี
        ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่ราษฎรทั้งหลายเรียกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งประชาชนชาวไทยยกย่องกันว่า พระองค์เป็นผู้ที่ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองเป็นอย่างดียิ่ง ทรงเห็นการไกลในเรื่องการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ และทรงมีนโยบายลึกซึ้ง
        ตำแหน่งสำคัญๆในราชการ เช่นตำแหน่งเสนาบดี (รัฐมนตรี) ปลัดทูลฉลอง (ปลัดกระทรวง) อธิบดี หรือสมุหเทศาภิบาล นั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกบุคคลที่จะให้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้เอง ทรงดูความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต ความชำนิชำนาญในกิจการงาน ฯลฯ ฉะนั้นกว่าผู้ใดจะได้ผ่านไปจนถึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้แล้ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ง่ายนักในชีวิตของผู้นั้น
        สำหรับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลในขณะนั้นเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะอยู่ ห่างไกลพระนครและการคมนาคมไม่สะดวก พระเจ้าแผ่นดินต้องเลือกเฟ้นผู้ที่จะไปเป็นสมุห-เทศาภิบาล แล้วทรงมอบอำนาจในการปกครองให้อย่างเต็มที่ จังหวัดสงขลากับกรุงเทพฯ ขณะนั้นมีทางติดต่อกันโดยทางทางทะเลทางเดียว ไม่มีรถไฟ ไม่มีถนนหรือเรือบินแม้ทางทะเลเรือที่จะเดินทางติดต่อกันได้ก็นานๆ จึงจะมีสักลำหนึ่ง บิดาข้าพเจ้าจึงเป็นเสมือนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในมณฑลภาคใต้ของประเทศไทย
        เมื่อข้าพเจ้าเกิดมาได้ไม่เท่าใดนัก ก็บังเอิญสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต้นตระกูล "ดิศกุล" ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดสงขลา บิดาข้าพเจ้าจึงได้ขอประทานให้ท่านทรงตั้งชื่อข้าพเจ้า โดยที่บรรดาพวกพี่ๆ ของข้าพเจ้าส่วนมากได้มีนามขึ้นต้นด้วยคำว่า "ประ" สมเด็จกรมพระยาดำรงจึงได้ประทานชื่อว่า "ประดิษฐ" ซึ่งคำหลังเป็นคำเสียงพ้องที่เกี่ยวข้องกับตระกูลของท่าน
        ในระหว่างที่บิดาข้าพเจ้า เป็นสมุหเทศาภิบาลอยู่ที่มณฑลนครราชศรีธรรมราชนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จประพาสมณฑลภาคใต้ ๒-๓ ครั้ง ก็คงจะได้เห็นว่าบิดาข้าพเจ้าได้ปกครองมณฑลนั้นเป็นที่เรียบร้อย มีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่พอพระราชหฤทัย ฉะนั้น เมื่อตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการว่างลง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บิดาข้าพเจ้าย้ายเข้ามากรุงเทพฯ และเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนั้น ขณะนั้นบิดาข้าพเจ้าอายุได้ ๔๔ ปี และตัวข้าพเจ้าเอง ๒ ปี เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ไปอยู่ที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตรอกวัดสามพระยา ตำบลบางขุนพรหม บ้านนี้เป็นบ้านของคุณตาพระยาชัยวิชิต (นาค) ยกให้เป็นมรดกของมารดา และเมื่ออายุข้าพเจ้าได้ ๔ ปีบิดาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยายมราช และได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล ซึ่งในขณะนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่ากระทรวงโยธาธิการ ต่อมาภายหลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวมกระทรวงนครบาลเข้าอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และโปรดเกล้าฯ ให้บิดาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตลอดมา
        เมื่อบิดาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยายามราชใหม่ๆ ได้ล้มเจ็บอย่างหนัก จนคิดกันว่าอาจไม่รอดชีวิตไปได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทั้งๆที่ทรงเป็นห่วงก็ไม่กล้ามาเยี่ยม เพราะตั้งแต่สมัยโบราณมาถือกันว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถ้าล้มเจ็บหนักลงแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไปเยี่ยมก็หมายความว่าข้าราชการผู้นั้นจะต้องไม่รอดแน่ จึงมิได้เสด็จไปเยี่ยม แต่ได้ขอให้บรรดาพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ผลัดกันมาเยี่ยมแล้วให้ไปกราบบังคมทูลอาการเจ็บป่วยว่าเป็นประการใดทุกๆ วัน จนบิดาข้าพเจ้าค่อยยังชั่วมากแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมถึงที่บ้าน เมื่อทรงเห็นบ้านที่อยู่ค่อนข้างเก่าและเล็กไม่เหมาะสมกับข้าราชการตำแหน่งเสนาบดี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานบ้านศาลาแดง (รูปภาพ) ให้แก่บิดาข้าพเจ้า ในสมัยนั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทำความดีความชอบให้แก่แผ่นดิน และเป็นที่พอพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดินแล้วมักจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานของตอบแทน เช่นบ้าน หรือเงินทอง ไร่นา เป็นต้น สำหรับบิดาข้าพเจ้าได้รับราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงได้รับพระราชทานบ้านนี้ ซึ่งเป็นบ้านใหญ่และมีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เราได้ย้ายไปอยู่บ้านศาลาแดงเมื่อ พ.ศ.2453 ขณะนั้นที่บ้านศาลาแดงค่อนข้างเปลี่ยว ถนนพึ่งมีไปถึง และเป็นที่ปลายทาง บ้านช่องผู้คนไม่ค่อยจะมี ยิ่งในเวลาค่ำคืนจะไปไหนต้องมีตำรวจนั่งหน้ารถ
        สมัยที่เราได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านบางขุนพรหมจากจังหวัดสงขลาใหม่ๆ นั้น เป็นสมัยที่ รถยนต์พึ่งจะตกเข้ามาในกรุงเทพฯ มีจำนวนหลายคัน รถยนต์เหล่านี้เป็นรถคันเล็กๆ ไม่มีหลังคา ที่หมุนเครื่องบางคันก็อยู่ข้างหน้ารถ บางคันก็อยู่ข้างๆรถ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานให้แก่บิดาข้าพเจ้าหนึ่งคัน แล้วพระราชทานชื่อรถคันนั้นว่า "อาสนพระยม" และบิดาข้าพเจ้าได้ซื้ออีกหนึ่งคันให้ชื่อว่า "ทมสารถี" สมัยนั้นเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้ใดมีรถยนต์ต้องมีชื่อประจำรถกันทุกคัน
        เมื่ออายุได้ ๖ ปีระหว่างที่ยังอยู่บ้านบางขุนพรหม ข้าพเจ้าได้เริ่มเรียนหนังสืออยู่กับบ้านโดยจ้างครูพิเศษมาสอน
        ผู้ที่เลี้ยงข้าพเจ้ามาตั้งแต่เด็กคือแม่ศุข เป็นภรรยาของบิดา แม่ศุขเคยมีบุตรสองคน แต่ได้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่ยังเด็ก มารดาข้าพเจ้าจึงได้ยกข้าพเจ้าให้แม่ศุขได้เลี้ยงตลอดมา ผู้ที่เป็นแม่นมชื่อนุ่ม เป็นภรรยาขุนวิเศษรักษาเป็นชาวเมืองสงขลา เขาเล่ากันว่าข้าพเจ้ากินนมจุ มารดาได้หาแม่นมมาให้ตั้งหลายคนแต่ข้าพเจ้ากินเสียนมแห้งกันไปตามๆกัน จนมาได้แม่นมนุ่มจึงได้มีนมให้ข้าพเจ้ารับประทานพอ 
        เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่นั้น บิดาตามใจข้าพเจ้ามาก ท่านจะไปที่ใดก็มักจะเอาข้าพเจ้าไปด้วยเสมอ จะไปตรวจราชการหรือจะเข้าเฝ้าหรือไปงานต่างๆ ก็ให้ติดตามไปด้วยเสมอ จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระพันปีหลวง เจ้านายฝ่ายหน้า ฝ่ายในทรงรู้จักดี บิดาเคยเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านได้พาเข้าไปในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จออก ในระหว่างที่บิดาเผลอข้าพเจ้าไปยืนเกาะอยู่ข้างพระองค์ ซึ่งทำให้บิดาตกใจเป็นอันมาก แต่เมื่อท่านได้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรับสั่งทักทายและลูบศีรษะข้าพเจ้า ท่านจึงค่อยสบายใจขึ้น
        ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จสวรรคต ได้เกิดมีดาวหางขึ้นอยู่หลายคืน ดาวหางนี้ถือกันว่าเป็นลางร้ายซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเชื่อเลย แต่ก็เป็นจริงที่ว่าดาวหางขึ้นที่ใด คราวใด ที่นั้นก็มักจะได้รับเคราะห์ใหญ่หลวงอย่างใดอย่างหนึ่ง คนเลี้ยงข้าพเจ้าได้ปลุกให้ลุกขึ้นดูดาวหางนี้คืนหนึ่งยังจำได้ติดตามว่า ได้เห็นดาวนั้นมีหางต่อไปยาวและมีแสงสว่างมาก ขณะนั้นอายุเพียง 6 ปีเศษ แต่ยังจำได้ดี

๒. เข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

       วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๔ อายุได้ ๗ ปี ๑ เดือน ได้ไปเข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกับพี่ชายคนหนึ่งชื่อประสาท (รูปภาพ) วันเข้าโรงเรียนนี้เป็นวันเดียวกันกับที่พี่ชายอีก ๒ คน คือ ประพาศและประสบได้ออกเดินทางไปศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ
        โรงเรียนมหาดเล็กหลวง(ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธ วิทยาลัย)เป็นโรงเรียนกินนอนประจำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ทำนอง "ปับลิค หรือไปรเวท สกูล" ในต่างประเทศโรงเรียนชนิดนี้ความมุ่งหมายที่จะฝึกหัดอบรมเด็กให้รู้จักทำอะไรด้วยตนเอง อบรมให้รู้จักรักหมู่คณะและรู้จักสามัคคีซึ่งกันและกัน มีน้ำใจเป็นนักกีฬา ให้กินเป็นเวลานอนเป็นเวลา ให้ออกกำลังกาย ฯลฯ ทั้งนี้เพราะเด็กๆ ซึ่งเป็นบุตรของผู้มีอันจะกิน มักจะได้รับการตามใจจากทางบ้านจนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักบังคับตัวเอง โรงเรียนชนิดนี้รู้สึกว่าดีมาก และเหมาะที่จะเป็นโรงเรียนสำหรับบุตรผู้มีอันจะกินที่ประสงค์จะอบรมบุตรของตนให้เป็นคนดี เพราะถ้าเป็นเด็กเกะกะ หรือเป็นเด็กเอาเปรียบเพื่อน หรือเห็นแก่ตัวมากจนเกินไปแล้วก็จะต้องถูกเพื่อนๆในโรงเรียนนั้นเองปราบให้เรียบร้อย
        เมื่อแรกเข้าโรงเรียนนี้ได้รับเลขประจำตัว ๗๑ เป็นเด็กเล็กที่สุดในโรงเรียนอยู่คณะเด็กเล็ก ในโรงเรียนนี้แบ่งออกเป็น ๖ คณะ ๕ คณะสำหรับนักเรียนรุ่นใหญ่เรียกว่าคณะ ก.ข.ค.ง.จ. และอีกคณะหนึ่งสำหรับเด็กเล็ก เรียกว่าคณะเด็กเล็ก ห้องนอนห้องหนึ่งๆ มีเตียงนอนประมาณ ๑๒ เตียง ทุกๆคนมีตู้สำหรับเก็บเสื้อผ้าและของใช้ประจำตัว นักเรียนทุกคนต้องทำเตียงของตนเองทุกเช้า และมีเวรผลัดกันทำความสะอาดห้อง โดยที่โรงเรียนนี้ได้รีบเร่งให้สร้างขึ้นจึงได้สร้างเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว รูปยาวและมุงหลังคาจากเป็นการชั่วคราวไปก่อน
        การที่จะเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนนี้ เท่าที่ทราบว่ารับนักเรียน ๒ ประเภท คือ
       ๑) ผู้ที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองนำมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดิน และ
       ๒) ผู้ที่เป็นบุตรของผู้มีตระกูลหรือมีชื่อเสียงดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการคัดจำนวนนักเรียนให้น้อยและให้ได้คุณภาพดีขึ้น เพราะนักเรียนมหาดเล็กหลวงนี้มีโอกาสที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินเสมอ และเมื่อเรียนสำเร็จแล้วส่วนมากก็ต้องเข้ารับราชการใกล้ชิดพระองค์ท่าน ฉะนั้นในหลักสูตรการสอนจึงมีวิชาสมบัติผู้ดี และวิชาการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินอยู่ด้วยเป็นอันมาก
        ปีแรกข้าพเจ้าอยู่ชั้นประถม ๑ พอถึงปลายปีสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ในชั้นได้ข้ามชั้นไปอยู่ชั้นประถม ๓ และได้รับรางวัลหลายรางวัลด้วย ครูที่สอนในชั้นนั้นเคยชมเชยและเคยยกตัวอย่างแก่นักเรียนอื่นๆ ในชั้นว่าเป็นเด็กขยันหมั่นเพียร ต่อมาอีกปีหนึ่งก็สอบไล่ได้ ได้เลื่อนชั้นไปอยู่มัธยมปีที่ ๑ ได้เล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน ๖ ปีจนถึงอายุ ๑๓ ปี ได้เลื่อนขึ้นไปอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๔ จึงได้ลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ
        ในทางกีฬา ได้เข้าเล่นฟุตบอลอยู่ในทีมรุ่นเล็กของคณะและของโรงเรียน ได้เคยเข้าแข่งขันกับโรงเรียนอื่นๆหลายครั้ง ในงานของโรงเรียนคราวหนึ่งได้ถูกคัดเลือกให้เข้าแสดงละครภาษาอังกฤษเป็นตัวลูกเสือไปจับผู้ร้ายได้มีบทสั้นๆ
        ในสมัยที่เป็นนักเรียนมหาดเล็กอยู่นั้น ในราชสำนักมีประเพณีอยู่ว่าทุกๆ วันพุธและวันเสาร์ บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นสมาชิกสมาคมสามเหลี่ยมในพระบรมราชูปถัมภ์
จะต้องมีเวรกันจัดเลี้ยงอาหาร มีของแจกและจัดหาละครหรือการแสดงอื่นๆ มาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ ซึ่งเจ้าของงานทุกท่านต่างก็พยายามหาของดีที่สุดมาแสดงถวาย เป็นการประกวดกันไปในตัว สำหรับนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปชมการแสดงด้วยทุกคราว (พวกเราได้ชมแต่การแสดงเท่านั้น ไม่ได้รับเลี้ยงด้วย) ทั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเห็นชีวิตและความเป็นไปในราชสำนักสมัยนั้นโดยใกล้ชิด และได้รู้จักคุณค่าของการบันเทิงต่างๆ ว่าอะไรดี และไม่ดี ด้วยความสนใจเป็นที่สุด นอกจากนั้นยังได้มีโอกาสรู้จักบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน
        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงโปรดการแสดงละคร ทรงแต่งเรื่องเอง ทรงแสดงเอง และทรงกำกับการแสดงเอง เรื่องใดที่ต้องการผู้แสดงมากคนก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเข้าร่วมแสดงด้วย ละครนี้เรียกว่าละครหลวงแสดงในพระบรมมหาราชวัง ถ้าคราวใดมีการเก็บเงินก็เป็นการบำรุงการกุศล มีอยู่สองเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ถูกคัดเลือกเข้าแสดงด้วย คือ เรื่องวิวาห์พระสมุทร และเรื่องหนามยอกเอาหนามบ่ง เป็นตัวมหาดเล็กเจ้าเมือง มีหน้าที่ติดตามเจ้าเมืองและถือหางเสื้อเจ้าเมือง บทเจรจาแทบจะไม่มีเลย ทั้งสองเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงแสดงเป็นตัวสำคัญในเรื่อง การที่ได้เล่นละครร่วมกับพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีข้อที่น่าจด คือในเวลาเปิดฉากจะเป็นเวลาซ้อมหรือเวลาแสดงก็ตาม ทุกๆคนแสดงเต็มที่โดยไม่ต้องนึกถึงพระองค์ท่าน แต่พอปิดฉากถ้าพระองค์ท่านกำลังอยู่บนเวทีผู้แสดงจะต้องลงหมอบทุกคนจนกว่าจะเสด็จลงจากเวทีพวกเราจึงจะลุกขึ้นได้ พวกที่เกิดมาในสมัยหลังๆคงจะไม่ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้น มีพระราชอำนาจมากมายเพียงใด และทุกๆ คนมีความเกรงกลัวท่านเพียงใด แม้แต่ได้เข้าไปอยู่ใกล้พระองค์ท่านบางคนก็สั่นเสียแล้ว ยิ่งท่านรับสั่งด้วยเราก็ยิ่งเงอะงะขึ้นไปอีก ถ้าถูกท่านกริ้วแล้วบางคนถึงล้มเจ็บไปหลายวันและนับว่าเป็นการได้รับเคราะห์อย่างใหญ่หลวง การซ้อมละครนี้เหน็ดเหนื่อยกันมากเพราะซ้อมกันแทบทุกคืนเป็นแรมเดือน และกว่าจะได้ลงมือซ้อมก็ราวสองยาม คือ ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จลุกขึ้นจากโต๊ะเสวยแล้ว พวกเราไปคอยอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ กว่าจะเสร็จการซ้อมก็ราว 4 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่ง่วงแล้วง่วงอีก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องอดทน จำได้ว่าระหว่างการซ้อมนั้นมีหลายคราวที่ข้าพเจ้ารู้สึกง่วงมาก จึงไปแอบนั่งหลับอยู่ข้างเวทีทั้งๆ ที่ใจก็เป็นห่วง บางคราวลืมตาขึ้นมาแลเห็นตัวเจ้าเมืองแสดงอยู่บนเวทีแล้ว โดยไม่มีข้าพเจ้าติดตามอยู่ด้วย ใจคอไม่สบายเลย กลัวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จะกริ้ว เพราะได้เคยเห็นท่านกริ้วใครต่อใครมาหลายครั้งแล้ว ข้าพเจ้าค่อยๆ แอบเดินเลียบขึ้นไปข้างหลังเจ้าเมืองบนเวที ผู้ใหญ่บางคนที่กำลังแสดงอยู่บนเวทีเมื่อแลเห็นข้าพเจ้าค่อยๆ ย่องเข้ามาก็อดขันไม่ค่อยได้
        ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้แสดงขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ท่านได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นโดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ทางฝ่ายข้าราชการพลเรือนเป็นผู้รักษาพระองค์และช่วยรักษาประเทศด้วย ผู้ที่เป็นเสือป่าเหล่าต่างๆ นั้น รับสมัครจากข้าราชการพลเรือนตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มีการฝึกหัดอบรมคล้ายคลึงกับทหารแต่เบากว่า พูดถึงเครื่องแต่งตัวเสือป่าแล้ว ได้ออกแบบกันสวยสง่ามาก ไม่แพ้เครื่องแบบที่สวยงามของต่างประเทศสมัยก่อนๆ โน้นเลยทีเดียว โดยปรกติเสือป่ามีการซ้อมรบใหญ่ที่จังหวัดนครปฐมทุกปี ประมาณปีละ ๑๐ วัน ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่ทางราชการปิดสถานที่ทำการเพื่อพักผ่อน ๑๕ วัน เสือป่านี้แบ่งออกเป็นเหล่าเช่นเดียวกับทหาร เช่นเหล่าม้า เหล่าพราน เหล่ารบ ฯลฯ เป็นต้น ในการซ้อมรบทุกปีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเป็นแม่ทัพฝ่ายหนึ่ง และบิดาข้าพเจ้าเป็นแม่ทัพอีกฝ่ายหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เคยติดตามบิดาไปในการซ้อมรบนี้หลายครั้ง มีม้าเล็กๆ ตัวหนึ่งขี่ตามแม่ทัพไป ได้เคยผจญกับความลำบากหลายคราว เช่นหลงทางในเวลากลางคืน ต้องอยู่ในป่าคนเดียวตลอดทั้งคืนเป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับความลำบากเพียงใดก็รู้สึกชอบการซ้อมรบนี้มาก เพราะทำให้มีใจกล้าหาญ อดทน สำหรับนักเรียนมหาดเล็กหลวงทุกคนต้องเป็นนักเรียนเสือป่าหลวง ซึ่งต้องประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ตลอดเวลา แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าได้ลาโรงเรียนแล้วมาประจำอยู่ทางฝ่ายบิดา
        ในระหว่างเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง มีเพื่อนนักเรียนที่สนิทสนมกันมาก ๒ คนคือ นายประโยชน์ บุรณศิริ และนายเจียม ลิมปิชาติ (หลวงชาติตระการโกศล) เพราะบิดาของเขาทั้งสองได้นำสองคนนี้มาฝากฝังไว้กับบิดาข้าพเจ้า เราเลยอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ วันเสาร์วันอาทิตย์กลับบ้านศาลาแดงอยู่ด้วยกัน วันจันทร์เช้าก็กลับไปโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนนักเรียนรุ่นใหญ่ที่คอยดูแลช่วยเหลืออีก ๒ คน คือ นายก่อง เจตนาวัต และนายกิจจา ณ ถลาง ซึ่งเป็นหัวหน้าในคณะเด็กเล็ก

๓. สิ่งที่ชอบเมื่อเป็นเด็ก

       ๑. การกีฬา ชอบกีฬาทุกชนิด ได้เล่นฟุตบอลอยู่ในทีมคณะของโรงเรียนและเล่นอยู่ในทีมเด็กของโรงเรียน แล้วยังได้จัดตั้งทีมฟุตบอลขึ้นในบ้านเพื่อนแข่งขันกับที่อื่นๆอีกด้วย ได้จัดให้มีการแข่งขันวิ่งเร็ว กระโดดสูง กระโดดยาว ฯลฯ ระหว่างเด็กในบ้านเสมอ
       ๒. ดนตรี นับแต่อายุ ๑๐-๑๑ ปี เป็นต้นมา ได้หัดเล่นดนตรีไทยหลายชนิด เช่น พิณพาทย์ จะเข้ และฆ้องวงใหญ่ โดยเฉพาะฆ้องวงใหญ่ได้เรียนขึ้นครูจนเล่นเข้าวงกับผู้ใหญ่ได้ การขึ้นครูในการหัดดนตรีนี้มีข้อความที่ควรจดไว้คือ ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนไหว้ครู ต้องเสียเงินขึ้นครู และต้องหัดเล่นเพลงขึ้นครูให้ได้ เพลงนี้ยากและยาวมาก และเกือบจะไม่เป็นทำนองเพลง ก่อนเล่นเพลงนี้จะต้องกราบ แล้วจะไปหัดเพลงไทยไม่มีโน้ตเหมือนดนตรีฝรั่ง ต้องใช้ความจำ แต่ที่หัดได้รวดเร็ว ก็เพราะในขณะนั้นบิดาข้าพเจ้ามีวงพิณพาทย์และวงมโหรีอยู่ในบ้าน ระหว่างรับประทานอาหารค่ำ และภายหลังอาหารก็ได้นั่งฟังอยู่ทุกๆวัน พวกนักดนตรีเหล่านี้คอยต่อเพลงให้ จำได้ว่าสองเพลงแรกที่หัดนอกจากเพลงขึ้นครู คือ เพลงเขมรปี่แก้ว และเพลงจรเข้หางยาว
       ๓. เรือ ชอบเล่นเรือเป็นที่สุด เคยคิดฝันอยากจะมีเรืออยู่เสมอ
       ๔. การทหาร เนื่องจากได้ไปซ้อมรบกับบิดาและชอบใจมาก จึงได้จัดตั้งกองทหารขึ้นภายในบ้านโดยเกณฑ์เด็กๆ ในบ้านประมาณ ๒๕ คน มาเป็นทหาร ตั้งตัวเองเป็นผู้บัญชาการแล้วซื้อปืนลมแจก ในการตั้งค่ายทหารนี้ได้ไปตัดต้นหมากของมารดาเข้า ๓ ต้น ท่านผู้บัญชาการถูกหยิกเสียจนขาเขียว
       ๕. ขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้หัดขับรถทั้งสองชนิดจนขับได้ดี ทั้งที่ตัวยังเล็กมาก รถในบ้านจะออกไปไหนจะต้องอาสาขับไป รถจักรยานยนต์เพื่อนมาหาก็ต้องยืมไปเที่ยว
       ๖. การเดินทาง ได้เคยเดินทางไปต่างจังหวัดหลายคราวคือ ๑. ไปจังหวัดนครราชสีมา โดยทางรถไฟกับพี่ชายใหญ่ (พระยาสุขุมนัยวินิจ) การเดินทางไปจังหวัดนั้นต้องผ่านตำบลที่เรียกว่าดงพญาเย็น และดงพญาไฟ รู้สึกตื่นเต้นตามภาษาเด็ก คือนึกว่าเมื่อถึงดงพญาเย็นคงจะพบอากาศเย็น และดงพญาไฟ รู้สึกตื่นเต้นตามภาษาเด็ก คือนึกว่าเมื่อถึงดงพญาเย็นคงจะพบอากาศหนาว และถึงดงพญาไฟคงจะพบอากาศร้อนเป็นไฟ แต่ไม่เห็นมีอะไร รู้สึกผิดคาดมาก ๒. ได้ตามบิดาไปตรวจราชการจังหวัดชลบุรีโดยทางเรือ (ขณะนั้นไม่มีถนน) ที่จังหวัดนั้นได้ไปขี่ไม้กระดานซึ่งมีคนไถไปในเลน เป็นพาหนะอย่างหนึ่งของจังหวัดนี้และถือเป็นการกีฬาด้วย ๓. ไปจังหวัดสุพรรณบุรีกับบิดาเนื่องในงานทำบุญอายุ ๖๐ ของคุณป้านิล จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดบ้านเกิดของบิดา การไปคราวนี้มีขบวนเรือตามไปด้วยประมาณ ๓๐ ลำ ได้นำภาพยนตร์ไปฉายให้ประชาชนดูราษฎรทั้งจังหวัดได้มาชมและสนุกสนานกัน รวมทั้งราษฎรในจังหวัดใกล้เคียงก็ได้มาร่วมสนุกด้วย เรือชนิดต่างๆ หลายร้อยลำได้มาจอดเต็มแม่น้ำสุพรรณ มีเรือว่าเพลงทั้งชายหญิงหลายชุดมาลอยเรือว่าเพลงเกี้ยวกันตามประเพณีของเขา เป็นที่เพลิดเพลินดีมาก
       ๗. งานประจำปีต่างๆ งานที่ขึ้นหน้าขึ้นตาที่ประชาชนได้ชมและได้สนุกสนานสมัยนั้นมี ๑. งานฤดูหนาว ได้จัดให้มีที่วัดเบญจมบพิตรในปลายรัชกาลที่ ๕ และต้นรัชกาลที่ ๖ ต่อๆมาได้ย้ายไปมีที่สนามเสือป่า (ในเขาดิน) เพราะที่วัดเบญจมบพิตรคับแคบไป โดยที่มีคนไปเที่ยวงานมากขึ้น ในงานนี้ (ซึ่งมี ๗ วัน) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าห้างร้านใหญ่ๆโตๆ ต้องออกร้าน ซึ่งอาจเป็นร้านขายของบ้าง ร้านอาหารบ้าง ร้านการเล่นแปลกๆบ้างฯลฯ ต่างก็พยายามตกแต่งและจัดทำให้ดีเป็นเยี่ยมเพื่อเป็นการแข่งขัน เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรทุกคืน ทุกร้านก็อยากให้ทรงโปรดปรานร้านของตน สำหรับผู้ไปเที่ยวงานนี้แต่งตัวกันสวยๆ สวมเพชรนิลจินดากันเต็มที่ตามที่มี เป็นสมัยที่หรูแฟ่มาก ผู้คนที่ไปเที่ยวมีกิริยาสงบเสงี่ยมและเรียบร้อย คนเลวหรือคนเกะกะไม่เรียบร้อยไม่มีเข้าไปยุ่มย่ามในงานเลย ข้ามฟากถนนไปที่สวนมิสกวันมีการออกร้านเรียกว่า "สำเพ็ง" สำหรับผู้คนอีกพวกหนึ่งที่ไม่ชอบเที่ยวหรูหรา ทางด้านนี้มีร้านการพนันชนิดเบา และมีการออกร้านอย่างงานภูเขาทอง แม้จะเป็นทางฝั่ง "สำเพ็ง" ผู้คนที่ไปเที่ยวก็เรียบร้อยเช่นเดียวกัน เป็นที่น่าเสียดายมากที่มาในสมัยหลังๆ ผู้คนมากขึ้นการอบรมประชาชนพลเมืองไม่เรียบร้อยเหมือนแต่ก่อน ผู้ที่เคยไปเที่ยวงานสมัยนั้นทุกๆ คนจะต้องออกปากว่า ไม่มีสมัยใดที่มีความสวยงามความเป็นระเบียบเรียบร้อยของงานต่างๆที่ได้จัดให้มีขึ้น จะเหมือนกับงานในปลายรัชกาลที่ ๕ และตลอดรัชกาลที่ ๖ และจะต้องกล่าวอีกว่า พวกที่เกิดมาทันสมัยนั้นต้องนับว่าเป็นบุญที่ได้เห็นของดีๆ ซึ่งจะไม่ได้เห็นต่อไปอีกแล้ว ๒. งานเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีการตบแต่งประดับธงและโคมไฟทั่วทุกแห่งในจังหวัดพระนคร ๓ วัน ๓ คืน ในพระบรมมหาราชวัง กระทรวงทบวงกรมต่างๆ บ้านข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนและห้างร้านต่างๆ ต่างก็ตบแต่งธงและโคมไฟอย่างสวยงาม เรือแพบ้านริมแม่น้ำก็ตบแต่งสวยงามเช่นกัน เวลากลางคืนเราก็ขึ้นรถยนต์ไปตามถนนเพื่อชมการตบแต่งโคมไฟตามสถานที่ต่างๆ และในคืนสุดท้ายก็มักจะลงเรือชมความงามตามลำแม่น้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรทุกคืน ฉะนั้น ทุกหนทุกแห่งจึงพยายามตบแต่งให้งามที่สุด นี่ก็เหมือนกันในสมัยหลังๆ ก็ไม่ได้เห็นความงามเช่นนั้นอีก ๓. ตำนานเสือป่า งานนี้มิได้มีประจำปีทีเดียว หากแต่ได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งคราวที่สนามเสือป่า ความมุ่งหมายของความรู้ในทางประวัติศาสตร์ เพราะงานนี้ได้จัดเอาประวัติศาสตร์ของไทยบางตอนมาแสดงการแสดงมีในเวลากลางคืนบนสนามใหญ่ ต้องใช้ผู้แสดงมากมาย รวมทั้งม้าและช้าง บางตอนก็มีการรบกัน บางตอนก็แสดงถึงความสามัคคีของคนไทยที่ได้พยายามรวบรวมกำลังพวกชาวใต้จนไปรบชนะ ฯลฯ

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ